e-Tax คืออะไร มีกี่แบบ? พร้อมวิธีใช้งานให้ได้ประโยชน์e-Tax คืออะไร มีกี่แบบ? พร้อมวิธีใช้งานให้ได้ประโยชน์
บทความ

e-Tax คืออะไร มีกี่แบบ? พร้อมวิธีใช้งานให้ได้ประโยชน์

4 ก.ค. 68

e-Tax คือ ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการจัดทำเอกสารภาษีในรูปแบบดิจิทัล ช่วยให้การซื้อ-ขายสินค้าและบริการเป็นเรื่องสะดวก

e-Tax (ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์) คือ ระบบที่คนทำธุรกิจยุคนี้ควรทำความรู้จัก โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า และเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ เนื่องจากวิธีการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปในวันที่ทุกอย่างขยับเข้าสู่โลกดิจิทัล บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่า e-Tax คืออะไร และข้อดี ข้อเสีย e-Tax เพื่อให้คนทำธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการในยุคดิจิทัลนี้ 


สารบัญบทความ

•   e-Tax คืออะไร? ทำไมธุรกิจควรรู้จัก
•   e-Tax มีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
•   ประเภทของ e-Tax คืออะไรบ้าง?
•   ผู้ออก e-Tax มีหน้าที่อะไรบ้าง?
•   e-Tax คือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณออกเอกสารง่ายขึ้น


e-Tax คืออะไร? ทำไมธุรกิจควรรู้จัก

ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

e-Tax คือ ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการจัดทำเอกสารภาษีในรูปแบบดิจิทัล ทำให้การซื้อ-ขายสินค้าและบริการเป็นเรื่องสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่ดำเนินการบนแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ ระบบ e-Tax เข้ามาช่วยลดการใช้เอกสารกระดาษ เช่น ใบกํากับภาษี ใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้สามารถส่งผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์ขนาดเล็ก, E-Commerce หรือธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถเข้าถึงระบบ e-Tax ได้ ซึ่งจะช่วยให้การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ใบรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) และการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


e-Tax มีความสำคัญอย่างไรบ้าง?

e-Tax คือการจัดการภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ระบบ e-Tax จึงมีบทบาทสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ดังนี้ 

•   ช่วยลดปัญหาการจัดการข้อมูลเอกสารที่ซับซ้อน และลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บเอกสารแบบเดิม 
•   ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งเอกสารทางกายภาพ 
•   ช่วยให้ธุรกิจสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบ 
•   สามารถนำข้อมูลภาษีไปประมวลผลและวิเคราะห์ต่อยอด เพื่อประโยชน์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร 
•   ลดการใช้กระดาษและเอกสารรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดองค์กรรักษ์โลก 
•   ข้อมูลที่ผ่านระบบ e-Tax มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการรองรับตามกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ธุรกรรมมีผลผูกพันทางกฎหมาย 


ประเภทของ e-Tax คืออะไรบ้าง?

e-Tax Invoice & e-Receipt

ปัจจุบัน ระบบ e-Tax คือระบบที่ช่วยให้ธุรกิจออกเอกสารภาษีในรูปแบบดิจิทัล 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ 

1. e-Tax Invoice & e-Receipt 

e-Tax Invoice & e-Receipt คือการออกใบกํากับภาษีและบิลใบเสร็จในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีการรับรองความถูกต้องด้วยลายมือชื่อดิจิทัล เอกสารเหล่านี้จะถูกส่งให้ลูกค้าในรูปแบบไฟล์ เช่น XML, PDF หรือ PDF/A-3 ซึ่งช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาได้อย่างมาก1 โดยผู้ประกอบการที่สามารถยื่นขอใบกำกับภาษีและใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 

•   ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่จำกัดรายได้) 
•   มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority: CA) 
•   มีระบบที่สามารถจัดเก็บและส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างปลอดภัย 
•   ไม่ได้ใช้ระบบ e-Tax Invoice by Time Stamp อยู่แล้ว 
•   ไม่มีประวัติการหลีกเลี่ยงภาษี หรือการออกใบกำกับภาษีปลอม 

2. e-Tax Invoice by Time Stamp (e-Tax Invoice by E-mail) 

e-Tax Invoice by Time Stamp คือระบบจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผ่านอีเมล โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอใช้ระบบนี้และได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรก่อน จากนั้นใบกำกับภาษีจะถูกส่งไปยังผู้ซื้อ พร้อมสำเนาถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และส่งกลับไปยังผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการเสียภาษี1 โดยผู้ที่สามารถยื่นขอ e-Tax ประเภทนี้ได้แก่ 

•   ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 
•   นิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี 
•   บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี 
•   ไม่เคยได้รับอนุมัติหรืออยู่ระหว่างอนุมัติ e-Tax Invoice & e-Receipt 
•   ไม่มีประวัติการหลีกเลี่ยงภาษี หรือออกใบกำกับภาษีปลอม 


ผู้ออก e-Tax มีหน้าที่อะไรบ้าง?

หน้าที่สำคัญของผู้ประกอบการที่ออก e-Tax คือต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้การใช้งานเอกสารภาษีอิเล็กทรอนิกส์ถูกต้องครบถ้วน โดยมีรายละเอียดดังนี้1

•   จัดทำใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น PDF/A-3 พร้อมข้อความตามมาตรา 86/6 และ 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และต้องลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ 
•   ส่งมอบใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ซื้อ หรือสามารถพิมพ์ออกเป็นกระดาษได้ แต่ต้องมีข้อความกำกับว่า "เอกสารนี้ได้จัดทำและนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์" 
•   จัดทำไฟล์ข้อมูลใบกำกับภาษีในรูปแบบ XML ตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนด พร้อมลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในรอบภาษี ก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 
•   เก็บรักษาไฟล์เอกสารทั้ง PDF และ XML ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 

การปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมสรรพากรและระบบ e-Tax 


e-Tax คือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณออกเอกสารง่ายขึ้น

กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบ e-Tax ขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการใช้เอกสารกระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมออนไลน์ ปัจจุบันระบบ e-Tax แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ e-Tax Invoice & e-Receipt ที่รองรับผู้ประกอบการทุกระดับรายได้ และ e-Tax Invoice by Time Stamp ที่เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี 

การใช้งานระบบ e-Tax นั้น ผู้ประกอบการมีหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติ ได้แก่ การจัดทำเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตามระยะเวลาที่กำหนด และการจัดเก็บไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นไว้อย่างน้อย 5 ปี การปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้จะช่วยให้การทำธุรกรรมภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณ 

KGP, Payment. Make It Smooth.

FB : kgpthailand

LinkedIn : Kasikorn Global Payment

www.kasikornglobalpayment.com


อ้างอิง

1. สรุปสาระสำคัญสัมมนาเกี่ยวกับ e-Tax Invoice. (2565, 19 กรกฎาคม). กรมสรรพากร. https://www.rd.go.th/publish/seminar/Seminar_190722.pdf

ข่าวสารและกิจกรรมอื่น ๆ

ติดตาม KGP ผ่านโซเชียลมีเดีย